วัดกวนอิม (Kun Iam Tong Temple or Pou Chai Sim Un )
เป็นวัดที่มีทิศประตูประจัญทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่ 2 ( 225 องศา ( SW-2 )) จึงเป็นวัดที่ไม่มีราศีใด
มาเริ่มรีวิววัดที่ 1 กันเลยครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ การท่องเที่ยวมาเก๊า, macaofanclub.com, ลุงเด้ง ป้าไก่ ที่ให้โอกาสได้กลับมาทำรีวิวที่มาเก๊าอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นเรื่องของวัดอย่างเดียว แต่อาจจะมีสาระความรู้อื่นๆเพิ่มเติมให้บ้าง
ขอเปิดรีวิวด้วยความเป็นมงคลก่อนเลย…วัดแรกนี้คือวัดเจ้าแม่กวนอิม ( Kun Iam Temple ) นับว่าเป็นวัดที่สำคัญและน่าสนใจมาก หลายคนอาจจะเคยไปแล้ว แต่ก็คงมีอีกหลายๆคนที่ยังไม่เคยไป การเดินทางสามารถใช้บริการรถประจำทางได้ มีป้ายรถประจำทางอยู่ที่หน้าวัด อย่างวันที่ไปเราก็ใช้บริการรถประจำทางสาย 12 แต่เราต้องดูที่แผนที่การเดินทางของรถให้ดีครับว่ามันเป็นเที่ยวไปหรือเที่ยวกลับ อย่างสายที่ขึ้นที่ผ่านหน้าวัดเมื่อขึ้นจากในตัวเมืองมันจะเป็นขากลับครับ ขาไปมันจะผ่านที่ถนนด้านหลังวัด ใครมีอุปกรณ์นำทางอย่าง Google map ไปใช้ด้วยก็คงไม่ลำบากนัก พิมพ์ว่า Kum Iam Temple ก็จะขึ้นแล้วครับ อย่างตอนที่ไป ป้าไก่ ก็มี Google map ใช้ ก็อาศัยเดินทางได้ไม่หลง
นอกจากนั้นที่หน้าวัดก็ยังมีรถสามล้อลากที่เป็นสัญญลักษณ์หนึ่งของ มาเก๊า ไว้ตั้งโชว์ หรือบริการลากก็ไม่รู้ตั้งไว้คันหนึ่ง เราก็ไปแอบถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้ได้
นับเป็นหนึ่งในสามของวัดโบราณที่สำคัญเก่าแก่ที่สุดในมาเก๊า ตามจารึกที่พบในระฆังเหล็กเมื่อปี ค.ศ. 1632, ซึ่งอาจจะถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1627 วัดนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างการครองราชย์ของจักรพรรดิว่านหลีในสมัยราชวงศ์หมิง ขนาดของวัดทุกวันนี้ได้ถูกเริ่มขยายมาจากสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง และได้มีการบูรณะในสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง และจักรพรรดิกวางสูสมัยราชวงศ์ชิง
ทางเข้าตรงประตูด้านหน้าจะมีภาพปริศนาธรรม 3 มิติ ของพระศรีอาริยเมตตรัยโพธิสัตว์ หรือ ที่เราเรียกว่าองค์พระสังกัจจายน์ จากจีน โดยที่ปลายเท้าและดวงตาสามารถชี้และมองจ้องมายังเราได้จากทุกมุมที่เรายืนอยุ่ มีโคลงจีนกล่าวไว้ว่า “ คนทำดีไม่ต้องกังวล เพราะถึงคนในโลกไม่เห็น พระสังกัจจายน์ก็มองเห็นและอวยพรเราอยู่”
ที่ข้างประตูด้านใน ซ้าย-ขวา จะมีรูป ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ที่คอยปกปักรักษาวัดตั้งอยู่ข้างละ 2 องค์ เพื่อที่ผู้เข้ามากราบไหว้และแสดงการคารวะจะได้รับสิ่งที่เป็นมงคลกลับไป โดยให้เริ่มไหว้จากองค์ที่ประทับยืนทางด้านซ้ายมือเมื่อเราหันหน้าเข้าวัด แล้วต่อมาทางด้านขวา ในลักษณะเวียนเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา อันประกอบด้วย
1. ท้าวเวสสุวัณมหาราช (Vaisravana) หรือ ตัวเหวินเทียนหวัง(多闻天王) จะถือเจดีย์อยู่ในมือ องค์ท่าน หมายถึง มหาราชาผู้คอยคุ้มครองให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่กินดีอยู่ดีและมีความมั่งมี มั่งคั่ง ทำให้ในกลุ่มท้าวจตุโลกบาลทั้งหมด ท้าวเวสสุวัณมหาราชจะมีผู้กราบไหว้บูชามากเป็นพิเศษ นานวันเข้า ท่านจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยเรียกกันว่า “ท้าวกุเวรมหาราช” นามเดิมของท่านคือ ผีซาเหมิน(毗沙门)หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอหลีไห่ (魔礼海) ภาย หลังจากที่ท้าวเวสสุวัณมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาแล้วนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการช่วยเหลือมนุษย์ไม่ให้ ประสบกับความยากลำบากและยากจน ดังนั้น จึงได้มอบให้ท่านช่วยเหลือในการประทานทรัพย์สินเงินทองให้แก่คนผู้นั้น แต่ทว่า ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือให้พบกับความมั่งคั่งร่ำรวยนั้น จะต้องเป็นคนดีและตั้งมั่นในคุณธรรม โดยท้าวเวสสุวัณมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งอุดร(ทิศเหนือ) ของเขาซวีหมีซาน(เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งแก้วผลึก
2. ท้าววิรูปักษ์มหาราช (Virupaksa) หรือกว่างมู่เทียนหวาง (广目天王) หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องอาณาประชาราษฏร์ นามเดิมของท่านคือ ผีหลิวปอชา (毗留播叉) หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอหลี่หง (魔礼红) ภายหลังจากที่ท้าววิรูปักษ์มหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลอาณาประชารา ษฏร์ให้ตั่งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีดวงตาที่สาม จึงสามารถมองเห็นได้กว้างไกลนับพันลี้ และสามารถล่วงรู้การกระทำของมนุษย์โลกทุกรูปนาม โดยท้าววิรูปักษ์มหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งประจิม (ทิศตะวันตก) ของเขา ซวีหมีซาน(เขาสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งเงินขาว
ลักษณะของท้าววิรูปักษ์มหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีแดง รอบ ๆ แขนเสื้อของพระกรข้างขวา จะมีมังกรสีแดงรัดพันอยู่โดยรอบ(บ้างมีการสร้างรูปเคารพของท่านให้เป็นงูสี แดงแทน) ส่วนพระกรข้างซ้ายจะยกชูขึ้นเสมอ ในฝ่าพระหัตถ์จะมีไข่มุก(อัญมณี) วิเศษที่ส่องประกายแวววาว (ความหมายของไข่มุกที่มีลักษณะทรงกลม ยังเปรียบแทนโลกมนุษย์เช่นกัน) กล่าวกันว่าด้วยเพราะท่านมีสายตากว้างไกล จึงล่วงรู้การกระทำของมนุษย์ว่า ผู้ใดบ้างที่ดูหมิ่นดูแคลนพระพุทธศาสนา มังกร(งู) สีแดง ที่เลื้อยอยู่บนพระกรจะพุ่งเข้าไปรัดพันและจับตัวผู้นั้นมาลงทัณฑ์ ต่อมามีผู้เห็นว่าลักษณะของมังกรหรืองูไม่น่าดู จึงเปลี่ยนมาเป็น “เชือกสีแดง” แทน
นอกจากนี้ ในบันทึกโบราณที่กล่าวถึงท้าววิรูปักษ์มหาราชจะจับตัวจิ้งจอกลายชนิดหนึ่งเอาไว้ เรียกว่าตัว “หูเตียว”(狐貂)และในภาษาโบราณสัตว์ตัวนี้จะเรียกว่า “เซิ่น”(蜃) ทำให้ในเวลาต่อมา อักษรตัว “เซิ่น” ถูกมองว่า มีเสียงคล้ายคลึงกับตัว “ซุ่น” (顺)ที่แปลว่า สะดวกราบรื่น จึงถูกนำมาใช้ผสมรวมกับคำอื่น ๆ จนกลายมาเป็นอักษรมงคลดังกล่าว
3. ท้าววิรุฬหกมหาราช(Virudhaka) หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องพระธรรม นามเดิมของท่านคือ ผีหลิวหลี(批琉璃) หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอลี่ชิง(魔礼青) ภาย หลังจากที่ท้าววิรุฬหกมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการคุ้มครองพระธรรมคัมภีร์ ของพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัย รวมทั้งให้พระธรรมขจรไกลไปสู่ดินแดนต่าง ๆ อย่างกว้างไกล โดยท้าววิรุฬหกมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งทักษิณ(ทิศใต้) ของเขาซวีหมีซาน (เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งกระจก
ลักษณะของท้าววิรุฬหกมหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีเขียวเข้ม(บ้างว่าเป็นสีน้ำเงิน) พระหัตถ์ทรงถือไว้ด้วยกระบี่วิเศษที่มีสีเขียวคราม เรียกกันว่า ชิงเฟิงเป่าเจี้ยน (青峰宝剑) กระบี่ เล่มนี้มีความแหลมคมดั่งสิ่งวิเศษ ตัดฟันสิ่งใดล้วนขาดสบั้น บ้างก็กล่าวว่าท้าววุรุฬหกมหาราชมีมหามนตรา จึงสามารถใช้เวทมนต์ให้บังเกิดเป็นเปลวไฟที่มีพลังอำนาจอันร้ายแรง และกระบี่วิเศษของท่านนั้น ยามใดที่สะบัดออกก็จะบังเกิดเป็นลมพายุโหมกระหน่ำ
ดังนั้น ความแหลมคมของตัวกระบี่ชิงเฟิงเป่าเจี้ยนได้เป็นที่มาของความหมายประจำตัวท่าน เพราะคำว่า “เฟิง”(锋) ที่มาจากชื่อกระบี่ ออกเสียงเหมือนกับคำว่า “เฟิง”(风) ที่แปลว่า ลม อีกทั้งลักษณะของกระบี่เมื่อยามสะบัดออกจะบังเกิดเป็นลมพายุขนาดใหญ่ จึงมีความหมายว่า “เฟิง” (风) เช่นกัน ในอักษรมงคลคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น (风调雨顺) ที่หมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมายนั้น อักษร “เฟิง”(风) ในที่นี้จึงหมายถึง ท้าววิรุฬหกมหาราช (เจิงจ่างเทียนหวาง)
ตำนานเกี่ยวกับท้าววิรุฬหกมหาราช มีปรากฏในเทพนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง เฟิงเสินเอี่ยนอี้ (พงศาวดารประกาศิตสวรรค์ตั้งเทพเจ้า) และเรื่อง ไซอิ๋ว (บันทึกท่องตะวันตก)เช่นเดียวกับท้าวจตุโลกบาลองค์อื่น ๆ
4. ท้าวธตรฐมหาราช(Dhritarastra) หรือ ฉือกั๋วเทียนหวาง (持国天王) หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องประเทศ นามเดิมของท่านคือ ตัวหลัวจา (多罗吒) หรือบ้างก็เรียกว่า หมอลี่โซ่ว (魔礼寿) กล่าวกันว่า ภายหลังจากที่ท้าวธตรฐมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาแล้วนั้น พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ท่านมีหน้าที่ในการคุ้มครองอาณาจักรหรือดินแดนใด ๆ ที่นับถือในพระพุทธศาสนาให้มีแต่ความสงบสุขและร่มเย็น โดยท้าวธตรฐมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งบูรพา(ทิศตะวันออก) ของเขาซวีหมีซาน(เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งทองคำ
ใน วัดวาอารามทั่วไป จะต้องประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลไว้ ณ วิหารต้น ซึ่งเป็นวิหารแห่งแรกที่ทุกคนที่เข้าสู่บริเวณตัววัดจะต้องผ่านเป็นลำดับแรก ความหมายของท้าวจตุโลกบาลจึงเปรียบประหนึ่งการอารักขาคุ้มครองอาณาบริเวณตัววัดที่อยู่ด้านใน ให้มีความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
ลักษณะ ของท้าวธตรฐมหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีขาว พระหัตถ์ทรงถือเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่งที่คล้ายกับพิณสี่สาย เรียกกันว่า ผีผา ยามใดที่ดีดผีผาขึ้นมา เสียงดนตรีจะบังเกิดเป็นท่วงทำนองอันกึกก้อง สำหรับประเทศใดที่นับถือในพระพุทธศาสนา เสียงดนตรีนั้นจะมีความไพเราะ แต่สำหรับอาณาจักรใดที่คิดทำลายประเทศแห่งพระพุทธศาสนา เสียงดนตรีจะกลีบกลายมาเป็นลูกไฟดวงใหญ่จำนวนมากมายที่ตกลงมาจากฟากฟ้า ด้วยเหตุนี้ ท้าวธตรฐมหาราชจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการควบคุมภูมิอากาศบนโลกมนุษย์
เสียงดนตรีของผีผาที่ดังเป็นท่วงทำนองอันไพเราะนั้น จึงตรงกับอักษรจีนว่า เถียว (调) ที่แปลว่า จังหวะทำนอง ดังนั้น ในอักษรมงคล
เฟิงเถียวอวี่ซุ่น(风调雨顺) ซึ่งหมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมาย ตัวอักษร เถียว(调) ในที่นี้จึงหมายถึง ท้าวธตรฐมหาราช(ฉือกั๋วเทียนหวาง)
ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวธตรฐมหาราช มีปรากฏในเทพนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง เฟิงเสินเอี่ยนอี้ (พงศาวดารประกาศิตสวรรค์ตั้งเทพเจ้า) เล่าถึงพญาอสูรสี่พี่น้องที่เฝ้ารักษาด่านเจียเมิ่งกวน โดยมีอสูร “หมอลี่โซ่ว” เป็นพี่ใหญ่ ที่เป็นผู้นำพี่น้องอสูรทั้งสี่ในการทำสงคราม และมีผีผาเป็นอาวุธที่ใช้แผ่พลังคลื่นเสียงทำลายศัตรู ส่วนในตำนานเรื่องไซอิ๋วนั้น มีกล่าวถึงท้าวจตุโลกบาลว่าได้เข้าร่วมกับกองทัพสวรรค์เข้าล้อมจับกุมตัวซุน หงอคง(เห้งเจีย)
จากนั้นเราก็เข้ามาสู่ด้านในวัดแห่งนี้กัน โดยในวัดจะมีโถงหลักอยู่ 3 แห่ง การเข้าวัดบ้างว่าให้เอาเท้าซ้ายก้าวเข้าทางประตูซ้าย เวลาออกจากวัดให้เอาเท้าขวาก้าวออก เหมือนลักษณะของเข็มนาฬิกาที่เดินจากซ้ายไปขวา เป็นการแสดงถึงการก้าวไปข้างหน้านั่นเอง
การไหว้บ้างก็ว่าต้องเริ่มไหว้จากตำหนักในสุด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจ้าแม่กวนอิม จากตำหนักประทับของเจ้าแม่กวนอิมแล้วไหว้ไล่ออกมาจนถึงตำหนักหน้าสุดที่อยู่ใกล้ประตูทางออกที่สุด แต่จากที่เคยมีผู้ใหญ่บอกกล่าวมาว่า การกราบไหว้ศาลเจ้าใดก็แล้วแต่ ควรจะกราบไหว้ ฟ้าดินเพื่อเป็นการบอกกล่าวก่อน แล้วค่อยกราบไหว้เทพเจ้าของศาลนั้น โดยกระถางธูปกราบไหว้ฟ้าดินจะอยู่ที่ประตูหน้าก่อนเข้าโถงด้านใน ( อันนี้ก็แล้วแต่วิจารนญานของแต่ละท่านครับ ว่าจะเลือกปฏิบัติอย่างไร แต่สำหรับผู้บรรยาย จะกราบไหว้ฟ้าดินก่อนครับ )
ที่หน้าทางเข้าโถงแรก ก็จะมีรูป ฟุเก๋า หรือ สุนัขเทพคู่ หรือ สิงโต ตั้งอยู่ที่ ซ้าย – ขวา ของบันไดทางขึ้น โดยตัวผู้จะตั้งอยู่ทางฝั่งขวาเมื่อเราหันหน้าเขาหาตัววัด ส่วนตัวเมียจะตั้งอยู่ทางซ้าย เมื่อเราหันหน้าเข้าตัววัด ( ทางฮวงจุ้ยเรียกว่า ตัวเมียอยู่ฝั่งเสือ ตัวผู้อยู่ฝั่งมังกร นั่นเอง )
มีความเชื่อว่าเมื่อเราอธิษฐานขอพรจากรูปปั้นสิงโตสองตัวอยู่ซ้ายขวา ผู้หญิงให้ลูบที่สิงโตตัวผู้ ผู้ชายให้ลูบที่สิงโตตัวเมีย โดยวิธีอธิษฐาน ให้ลูบที่ตัวสิงโต แล้วหมุนลูกแก้ว (หรือลูกหิน) ในปากสิงโตพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานสิ่งที่อยากได้ โดยหมุนตามเข็มนาฬิกาทั้งหมด 3 ครั้ง แล้วก็ลูบที่ตัวสิงโตอีกครั้งหนึ่งบอกให้ช่วยให้คำอธิษฐานที่เราขอสมหวังโดยเร็ววัน
แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าเขาจะติดป้ายห้ามแตะต้องที่ตัวสิงโตไว้แล้ว นอกจากเราจะแอบทำเอาเอง
ตัวผู้…
ตัวเมีย…
1. โถงในสุด คือ หอพระโพธิสัตว์กวนอิม
เป็นที่ประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพรในชุดเจ้าสาวของจีนที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมอันงดงาม ซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนในทุกปี “เจ้าแม่กวนอิม” (观世音、观音)
ก่อนสักการะบูชาองค์ท่าน ต้องประพรมล้างมือเพื่อความบริสุทธิ์ ทางวัดได้จัดเตรียมอ่างน้ำใส่ใบไม้ไว้ให้ด้วย โดยอาจใส่เหรียญลงไป และซื้อธูปได้ในบริเวณเคาน์เตอร์ด้านข้าง
ธูปที่จำหน่ายก็อาจจะเป็นชุดเล็กดังภาพ ราคาก็ 20 MOP
การแก้ชงหรือขอพรในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นควรจุดธูปขดขนาดใหญ่ที่สามารถอยู่ได้ 15-30 วัน หรือไหว้ด้วยชุดของไหว้ที่ทางวัดมีชุดไหว้ไว้
องค์เจ้าแม่กวนอิมนั้นมีศิษย์อยู่เคียงข้างมากมาย ซึ่งรูปเคารพพระโพธิสัตว์กวนอิมมักมีเด็กชายและเด็กหญิงหรือพุทธสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาอยู่เคียงข้างเสมอ โดยถูกเรียกว่า
“กุมารทอง (กิมท้ง)” คือเด็กชายผู้ที่ทุบศีรษะเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านจนดวงปราณละสังหารได้นั้นเอง และ “กุมารีหยก (เง็กนึ้ง)” คือ สาวใช้ผู้ปวารณาเป็นข้ารับใช้พระองค์ขณะเป็นภิกษุณี บางตำนานว่า กิมท้งคือ บุตรชายคนรองแห่งแม่ทัพหลี่จิ้ง (เทพถือเจดีย์บิดาแห่งนาจา) นามว่า “ซ่านไฉ่”ซึ่งถวายตัวเป็นพุทธสาวกแห่งพระโพธิสัตว์กวนอิม และส่วนเง้กนึ้งบางตำนานกล่าวว่าคือ เจ้าหญิงมังกร นามว่า “หลงหนี่” ซึ่งเป็นพระธิดาแห่งเจ้าสมุทรผัวเจี๋ยหลัวปวารณาตนเป็นพุทธสาวกพระโพธิสัตว์ กวนอิม แต่บางตำนานว่้า ซ่านไฉ่ กับ หลงหนี่เป็นพระโพธิสัตว์เลยทีเดียว โดยมีเทวตำนานดังนี้ ตอนที่เจ้าหญิงหลงหนี่อายุได้ 8 พรรษาได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระโพธิสัตว์เหวินซู (พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) บังเกิดเห็นดวงตาเห็นธรรมจึงเสด็จขึ้นจากวังบาดาล ยังชมพูทวีปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และถวายตัวเป็นพุทธสาวก และต่อมาไม่นานสำเร็จมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนซ่านไฉ่นั้นเป็นบุตร1ใน500คนแห่งผู้เฒ่าฝูเฉิง เกิดเห็นว่าทุกสรรพสิ่้งเป็นสิ่งไม่เที่ยงมาแต่ไหนแต่ไร ด้วยเหตุนี้ึจึงสนใจศึกษาำพระธรรมโดยได้รับคำชี้แนะจากพระโพธิสัตว์เหวินซู (พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) และได้รับการสั่งสอนจากพระภิกษุสงฆ์ถึง 53 รูป ผ่านอุปสรรคต่างๆจนบรรลุสู่การเป็นพระโพธิสัตว์
แต่บางรูปขององค์เจ้าแม่กวนอิมจะเป็นขุนพลนายทหารซ้ายขวา ราชองครักษ์ทั้งสี่องค์ คือ
1. ซ่านฉาย 善財 หรือ สุทธนะ แปลว่าเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง
2. หลงหนิ่ว 龍女 เป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งของพระกวนอิม
3. เหวยถัวผูซ่า 韋馱菩薩 หรือ เหวยถัว หรือ สกัณฑะ หรือ เหวยต้า หรือ เหวยต้าเทียน 韋駄天 หรือเหวยถัวจวินเทียนผูซ่า ซึ่ง เป็นผู้ที่อุทิศตนทำงานหนักมาก จนได้รับยกย่องให้เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ปกป้องอีกองค์หนึ่ง
4.กวนอู 關羽 นายพลนักรบของพระเจ้าเล่าปี่หรือหลิวเป่ยที่เป็นที่รู้จัก กันดีในพงศาวดารเรื่อง สามก๊ก
นี้เป็นรูปของ เหวยถัวผูซ่า 韋馱菩薩 หรือ เหวยถัว เขาเป็นชายหนุ่มรูปหล่อและหลงรักองค์หญิงเมี่ยวซ่าน หรือ องค์เจ้าแม่กวนอิม แต่คิดว่าคงไม่มีโอกาสแน่นอนชั่วชีวิตนี้ จึงได้แต่หลงรักพระนางข้างเดียว แต่เขาเห็นพระนางมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย เขาจึงเฝ้าติดตามและคอยช่วยเหลือพระนาง ท่านเป็นนายพลทหารหนุ่มหน้าตาดี สวมชุดเสื้อเกราะชุดนายพลถือวัชราวุธ
ทั้งสองข้างของห้องเจ้าแม่กวนอิม ท่านจะเห็นรูปของ 18 อรหันต์ ตั้งวางอยู่ หนึ่งในนั้นที่จะเห็นก็คือรูปอรหันต์ตั๊กม้อ เนื่องจากท่านตั๊กม้อเป็นชาวดินเดียจึงมีผิวกายดำคล้ำและมีเส้นผม หยิกงอ ดังนั้น ภาพของท่านในสายตาของชาวจีนจึงดุร้ายน่ากลัวราวกับโจรผู้ร้ายทีเดียวเชียวละครับ
และอีกรูปหนึ่งที่เราคุ้นเคยดี ก็คือ องค์พระยิ้ม หรือพระสังกัจจาย์ ซึ่งถือว่าท่านเป็นเทพแห่งความมั่งคั่งองค์หนึ่ง เพราะมักจะพบว่าที่มือของท่านไม่ถือก้อนทองไว้ก็จะมีถุงเงินอยู่
ที่โต๊บูชาในห้องนี้เราก็จะเห็นรูปลักษณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางฮวงจุ้ยอย่างหนึ่งก็คือรูป เสือ และรูปมังกร ตั้งวางอยู่
และจะยังได้เห็นองค์เจ้าแม่กวนอิมริมน้ำจำลองที่ห้องนี้ด้วย
2. โถงแห่งที่สอง คือ หออายุวัฒนะ
เป็นที่ประดิษฐาน “องค์พระศรีอาริยเมตไตรย” (Sri Aria Metrai, Maitreya) ซึ่งทางพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน เชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์สถิตอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ต่อจากองค์สมณโคดมในอนาคตกาล
• เชื่อกันว่าผู้ที่สวดบูชาท่านอยู่เสมอ จะเป็นผู้มีอายุขัยยาวนาน ดังชื่อที่มาของโถงแห่งนี้ ตั้งจิตอธิษฐานให้บุญกุศลที่เราทำ ให้เราได้มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์และพบพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคต
บทสวด “เมตตานะ ศรีอริยะเมตโต พุทธานะมะ สันติเกโล อะนาคามิ สาธุ สาธุ สาธุ”
• ในทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น เชื่อว่า “องค์พระสังกัจจายน์” เป็นองค์เดียวกันกับ พระศรีอาริยเมตไตรย์ ในโถงแห่งนี้จึงเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระสังกัจจายน์โพธิสัตว์ด้วย เป็นองค์นั่งและถือก้อนทองไว้ ซึ่งปางที่ถือก้อนทองนี้ตามคติความเชื่อกันว่า เป็นพระโพธิสัตว์ที่เชื่อกันว่าจะประทานความร่ำรวยให้
การสักการะองค์พระสังกัจจายน์ สามารถสวดบทบูชาท่าน หลังจากนั้นให้อธิษฐานขอพรโชคลาภความ ร่ำรวยจากท่าน โดยให้ กางมือทั้งสองของเราออกให้สุดแล้วลูบองค์ท่านลงมา แล้วเอามือเก็บเข้ากระเป๋าเรา ทำ 3 ครั้ง
โถงสุดท้าย คือหอหลักที่ประดิษฐานของ “องค์พระประธาน 3 พระองค์”
• พระศรีศากยมุนี พระสมณโคดม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทรงเป็นพระประธานใหญ่องค์กลาง
• พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ (普賢菩薩: Pŭxián púsà) ประทับทางด้านขวามือสุดของพระศรีศากยมุนี (หรือทางซ้ายมือของเราหากมองเข้าไป)
• พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ (文殊師利菩薩 ;Wénshūshili Púsà) ประทับอยู่ทางด้านซ้ายมือสุดของพระศรีศากยมุนี (หรือทางขวามือของเราหากมองเข้า
จุดนี้เป็นการสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อขอความสุขที่ยั่งยืนนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีรูปสัตว์เทพอีกมากมายที่ศาลแห่งนี้อย่างเช่น รูป ปี่เซี๊ยะ เนื่องจากปี่เซี๊ยะ เป็นสัตว์มงคลที่คุ้มครองเจ้าแม่กวนอิม ที่วัดแห่งนี้จึงมีปี่เซี๊ยะอยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าวัด ปี่เซี๊ยะ เป็นวัตถุมงคลที่ช่วยคุ้มครองเรื่องการเดินทางและสุขภาพ แก่ผู้พกพาได้ นับเป็นยอดเครื่องรางที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พญามังกร และ มีพลังแรงกว่าสิงโตคู่ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีนที่ได้รับความนิยมทั้งในเมืองไทยและในประเทศต่างๆ
ปี่เซี๊ยะ เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์มงคลนำโชค ป้องกันและกำจัดสิ่งอัปมงคล
มีลักษณะรูปร่างคล้ายกวาง มีเขี้ยว ตาโปน ปากกว้าง มีเขา หางยาว ปีกสั้น แต่บางตัวก็ไม่มีปีก
มีอุปนิสัยกล้าหาญ เปิดเผย จงรักภักดี ซื่อสัตย์กับเจ้าของ ซึ่งรูปลักษณะของปี่เซียะเป็นการรวมสัตว์มงคล ๕ ชนิด ๕ ธาตุไว้ด้วยกัน คือ มีสี่เท้าของสิงโตอันทรงพลัง (ธาตุทอง) มีเขาและลำตัวเป็นกวาง (ธาตุน้ำ) มีปีกของพญานกอันแข็งแกร่ง (ธาตุไฟ) มีศรีษะของมังกรอันทรงพลัง (ธาตุไม้) มีหางแมวอันศักดิ์สิทธิ์ (ธาตุดิน)
จึงเป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับรูปลักษณะว่า เท้าตะปบเงิน ยกหัวข่มศัตรูคู่แข่ง อ้าปากกว้างรับทรัพย์ ลิ้นตวัดเกี่ยวเงินทอง หางยาวกวักโชคลาภ ไม่มีรูทวารเงินทองจึงไม่รั่วไหล
เล่ากันว่า ปี่เซียะเป็นราชบุตรองค์ที่ ๙ ของพญามังกรสวรรค์ ที่เรียกกันหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับสถานที่พบเห็น บ้างก็ว่า “เผ่เย่า”อยู่บนสวรรค์ “ผี่ชิว”อยู่บนโลกมนุษย์ “พีแคน”อยู่ในมหาสมุทร แต่ทั้งหมดจัดเป็นสัตว์เทพ ที่นำโชคลาภและขจัดสิ่งอัปมงคล ป้องกันอันตราย รวมทั้งยังช่วยนำพาลาภลอยมาให้ โดยเฉพาะโชคลาภที่เกี่ยวข้องกับการงาน หรืออาชีพที่ต้องเสี่ยง
เชื่อว่า ปี่เซียะ มีพลังแรงมากในเรื่องการนำโชค หากยิ่งได้นำไปตั้งคู่กับ “กิเลน”ด้วยแล้ว จะยิ่งมีพลังแรงมากขึ้นไปอีก ผู้ที่จัดตั้งปี่เซียะนั้นควรเป็นผู้มีศีลธรรม คุณธรรม จึงจะประสบผล แต่หากมีนิสัยคดโกง ประพฤติผิดศีลธรรม ไม่มีคุณธรรมแล้ว ก็จะได้รับผลในทางตรงกันข้าม
ปี่เซี๊ยะมีลักษณะ 8 ประการ ที่สำคัญคือ 1. อ้าปากรับทรัพย์ 2. หางยาวกวักโชคลาภ 3. ยกหัวข่มศัตรูคู่แข่ง 4. เท้าตะปบเงิน (หาเงินเก่ง รักษาทรัพย์ให้งอกงาม) 5. ก้าวขา-ก้าวหน้า 6. ลิ้นยาว ตวัดโชคลาภเงินทอง 7. องอาจน่าเกรงขาม 8. ไม่มีรูทวาร เงินทองเข้าอย่างเดียวไม่ไหลออก
ที่วัดแห่งนี้ยังมีสวนอยู่ที่ด้านข้างที่มี โต๊ะและที่นั่งหิน ที่ทางจีน ที่เคยใช้เป็นที่นั่งในการลงนามกับ อเมริกา ใน วันที่ 3 July 1844 เรียกว่าสนธิสัญญา Mong-Ha
เหมือนกับวัดหลายแห่งทั้งใน มาเก๊า และ ฮ่องกง เราจะเห็นว่าเขาจะจัดให้มีห้องสำหรับไว้วางป้ายชื่อของผู้ล่วงลับไปแล้วอยู่ด้วย ในวันที่ไปก็ยังมีบรรยากาศของวันเชงเม้งอยู่เลย คือยังมีคนมาตั้งโต๊ะเคารพบรรพบุรุษอยู่เลย..